หน้าหลัก
สภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน
สภาพปัญหาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
บทสรุปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
กรณีศึกษา : เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ – โคราช
อ้างอิงที่มา
วิทยากรบรรยายวิชาสัมมนา
ผู้จัดทำรายงานวิชาสัมมนา
ภาพบรรยากาศการบรรยายวิชาสัมมนา
บทที่ 2 สภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน

2.1    โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ
    โครงข่ายทางรถไฟมีระยะทางรวม 4,043 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางสายหลักหรือสายประธาน ๕ เส้นทาง กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศครอบคลุมพื้นที่บริการ 47 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟทางเดี่ยว ระยะทาง 3,763 กิโลเมตร หรือร้อยละ 93 ทางคู่ระยะทาง 173 กิโลเมตร หรือร้อยละ 4 และทางสาม ระยะทาง 107 กิโลเมตร หรือร้อยละ 3 เนื่องจากทางรถไฟทางคู่และทางสามมีระยะทางค่อนข้างน้อย ทำให้เสียเวลาในการรอสับหลีก อีกทั้งโครงข่ายทางรถไฟยังมีสภาพทรุดโทรม (มากกว่าร้อยละ 60 ของรางมีอายุเฉลี่ยเกิน 30 ปีขึ้นไป) ขาดการซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ยังมีทางลักผ่านของชุมชนและมีจำนวนจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟทั่วประเทศ จำนวน ๒,๔๖๐ จุด โดยเป็นทางผ่านระดับถนนที่รถไฟจะต้องหยุดหรือชะลอความเร็ว ซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง จำนวนถึง ๒,๒๐๐ จุด รวมทั้ง ยังมีทางลักผ่านของชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัย จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟและมาตรการเรื่องความปลอดภัย

2.2    โครงสร้างพื้นฐานทางถนน
    ปัจจุบันประเทศไทยมีถนนในความดูแลของกรมทางหลวง ระยะทาง 66,940 กิโลเมตร (รวมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง) กรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 47,916 กิโลเมตร ทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทาง 207.90 กิโลเมตร และเป็นถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะทางประมาณ 352,157 กิโลเมตร โดยในปี 2553 มีปริมาณการเดินทางประมาณ 2.4 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน และคาดว่าในปี 2563 แนวโน้มปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางถนนจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.84 หรือคิดเป็น 3.07 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ส่งผลต่อปริมาณการจราจรในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร และบนถนนสายหลักซึ่งเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคของประเทศ

2.3    โครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ
    การขนส่งทางน้ำแบ่งออกเป็นการขนส่งทางลำน้ำและการขนส่งทางชายฝั่ง โดยเส้นทางการขนส่งทางลำน้ำมี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา (ขนส่งได้ตลอดทั้งปี) แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ส่วนเส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ การขนส่งทางทะเลและการขนส่งในแม่น้ำโขง ระหว่างกลุ่มประเทศสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว) สำหรับเส้นทางการขนส่งทางชายฝั่งโดยมากจะมีจุดต้นทางหรือจุดปลายทางอยู่ในชายฝั่งของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

2.4    โครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ
    ปัจจุบันท่าอากาศยานในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 58 แห่ง แบ่งตามกิจกรรม ได้เป็น ท่าอากาศยานพาณิชย์ 38 แห่ง ประกอบด้วย 1) ท่าอากาศยานภูมิภาคที่อยู่ในความดูแลของกรมการบินพลเรือน 28 แห่ง 2) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 6 แห่ง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย 3) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสมุย ท่าอากาศยานสุโขทัย และท่าอากาศยานตราด และ 4) ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ 1 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา นอกจากนี้ ยังมีท่าอากาศยานที่มิใช่ท่าอากาศยานพาณิชย์อีก 20 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพบก กองทัพอากาศ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2553 มีการเดินทางเข้า-ออกจากกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคต่างๆ จำนวน 84,450 คน-เที่ยวต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 108,923 คน-เที่ยวต่อวัน ในปี 2563 สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในปี 2553 มีการขนส่งสินค้าปริมาณ 303 ตันต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 396 ตันต่อวัน ในปี 2563 ปัจจุบันท่าอากาศยานที่ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีปริมาณผู้โดยสาร ในปี 2556 ถึง 51.36 ล้านคน เกินกว่าขีดความสามารถที่จะรองรับได้ประมาณ ๔๕ ล้านคนต่อปี และขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี

2.5    โครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
    ประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2553 มีจำนวน 11.49 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.73 ล้านคน ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณการเดินทาง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนระบบรางยังให้บริการไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนยังใช้ระบบการเดินทางถนน โดยคาดว่าปริมาณการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 17.84 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเป็น 23.18 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ต่อปี ทำให้ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลง จาก 28.31 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 2553 เหลือเพียง 13.64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 2563 ก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด การเข้าถึงพื้นที่ย่านธุรกิจ (Central Business District : CBD) ก็จะใช้ระยะเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นจาก 1 ชั่วโมง ในปี 2553 เป็น 2 ชั่วโมง ในปี 2563

2.6    การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานบริเวณด่านชายแดนที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการค้า การบริการ และการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากการเป็นประชาคมอาเซียน
    สืบเนื่องจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมระบบการเชื่อมต่อและการขนส่งให้สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยพัฒนาโครงข่ายการขนส่งและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น
    1) การปรับปรุงประสิทธิภาพของประตูการค้า (Gateway) ให้สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาประสิทธิภาพประตูการค้าชายแดน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่มีพรมแดนติดต่อระหว่างกัน ให้สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจเกิดความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
    2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่ง ภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยการขยายทางหลวงสายหลักระหว่างจังหวัดบนโครงข่ายถนนอาเซียนช่วงที่เป็นคอขวดให้เป็น 4 ช่องจราจร (Missing Link AHN) การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Inter-City Motorway) การก่อสร้างรถไฟทางคู่ การพัฒนาระบบขนส่งผู้โดยสารสาธารณะเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างเมืองหลักในส่วนภูมิภาคของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
    3) การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น สถานีขนส่งสินค้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร จุดพักรถ ให้มีความสะดวกและเป็นมาตรฐานสากล